วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ขั้นตอนทางประวัติศาสตร์

1.การกำหนดหัวเรื่องที่จะศึกษา
การศึกษาเรื่องราวในประวัติศาสตร์เริ่มจากความสงสัย อยากรู้ ไม่พอใจกับคำอธิบายเรื่องราวที่มีมาแต่เดิม ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงเริ่มจากการกำหนดเรื่องหรือประเด็นที่ต้องการศึกษาซึ่งในตอนแรก อาจกำหนดประเด็นที่ต้องการศึกษาไว้กว้างๆ ก่อน แล้วจึงค่อยจำกัดประเด็นลงให้แคบ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในภายหลัง เพราะบางเรื่องขอบเขตของการศึกษาอาจกว้างมากทั้งเหตุการณ์ บุคคล และเวลา
การกำหนดหัวเรื่องอาจเกี่ยวกับเหตุการณ์ ความเจริญ ความเสื่อมของอาณาจักร ตัวบุคคลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อาจยาวหรือสั้นตามความเหมาะสม ซึ่งผู้ศึกษาเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ และยังมีหลักฐานข้อมูลที่ผู้ต้องการศึกษาหลงเหลืออยู่ หัวข้อเรื่องอาจปรับให้มีความเหมาะสมหรือเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากหลักฐานที่ใช้ในการศึกษามีน้อยหรือไม่น่าเชื่อถือ
2.การรวบรวมหลักฐาน
การ รวบรวมหลักฐาน คือ การรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะศึกษา ซึ่งมีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
หลักฐานทางประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็นหลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิกับหลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ
1) หลักฐานชั้นต้น (Primary Sources) เป็นหลักฐานร่วมสมัยของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง ประกอบด้วยหลักฐานทางราชการทั้งที่เป็นเอกสารลับ เอกสารที่เปิดเผยกฎหมาย ประกาศ สุนทรพจน์ บันทึกความทรงจำของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ หรืออัตชีวประวัติผู้ที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ การรายงานข่าวของผู้รู้ ผู้เห็นเหตุการณ์ วีดิทัศน์ ภาพยนตร์ ภาพถ่ายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น
2) หลักฐานชั้นรอง (Secondary Sources) เป็นหลักฐานที่จัดทำขึ้นโดยอาศัยหลักฐานชั้นต้น หรือโดยบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง แต่ได้รับรู้โดยผ่านบุคคลอื่น ประกอบด้วยผลงานของนักประวัติศาตร์หรือหนังสือประวัติศาสตร์ รายงานของสื่อมวลชนที่ไม่ได้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง
ทั้งหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองจัดว่ามีคุณค่าแตกต่างกัน คือ หลักฐานชั้นต้นมีความสำคัญมาก เพราะเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่บันทึกโดยผู้รู้เห็น หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง ส่วนหลักฐานชั้นรองเป็นหลักฐานที่ทำขึ้นภายหลังโดยใช้ข้อมูลจากหลักฐานชั้น ต้น แต่หลักฐานชั้นรองจะช่วยอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจหลักฐานชั้นต้นได้ง่ายขึ้น ละเอียดขึ้นอันเป็นแนวทางไปสู่หลักฐานข้อมูลอื่นๆ ซึ่งปรากฏในบรรณานุกรมของหลักฐานชั้นรองทั้งหลักฐานชั้นต้นและชั้นรองสามารถ ค้นคว้าได้จากห้องสมุด ทั้งของทางราชการ และของเอกชน ตลอดจนฐานข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (website)
การค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ดีควรใช้หลักฐานรอบด้าน โดยเฉพาะหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะศึกษา อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะใช้หลักฐานประเภทใดควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะหลักฐานทุกประเภทมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน
3.การประเมินคุณค่าของหลักฐาน
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้ามาได้ ก่อนที่จะทำการศึกษาจะต้องมีกาีรประเมินคุณค่าว่าเป็นหลักฐานที่แท้จริง เพียงใด การประเมินคุณค่าของหลักฐานนี้เรียกว่า “วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์” ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ดังต่อไปนี้
1) การประเมินคุณค่าภายนอกหรือวิพากษ์วิธีภายนอก ซึ่งหมายถึง การประเมินคุณค่าของหลักฐานจากลักษณะภายนอกของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บางครั้งก็มีการปลอมแปลง เพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้หลงผิด หรือเพื่อเหตุผลทางการเมือง การค้า ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินว่าเอกสารนั้นเป็นของจริงหรือไม่ ในส่วนวิพากษ์วิธีภายนอกเพื่อประเมินหลักฐานว่าเป็นของแท้ พิจารณาได้จากสิ่งที่ปรากฏภายนอก เช่น เนื้อกระดาษ กระดาษของไทยแต่เดิมจะหยาบและหนา ส่วนกระดาษฝรั่งดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เริ่มเข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทางราชการจะใช้กระดาษฝรั่งหรือสมุดฝรั่งมากขึ้นในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับตัวพิมพ์ดีดเริ่มใช้มากขึ้นในกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าปรากฏว่ามีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัวใช้ตัวพิมพ์ดีด ก็ควรสงสัยว่าหลักฐานนั้นเป็นของปลอม
2) การประเมินคุณค่าภายในหรือวิพากษ์วิธีภายใน เป็นการประเมินคุณค่าของหลักฐานจากข้อมูลภายในหลักฐานนั้น เป็นต้นว่า มีชื่อบุคคล สถานที่ เหตุการณ์ ในช่วงเวลาที่หลักฐานนั้นทำขึ้นหรือไม่ ดังเช่น หลักฐานซึ่งเชื่อว่าเป็นของสมัยสุโขทัยแต่มีการพูดถึงสหรัฐอเมริกาในหลักฐาน นั้น ก็ควรสงสัยว่าหลักฐานนั้นเป็นของสมัยสุโขทัยจริงหรือไม่ เพราะในสมัยสุโขทัยยังไม่มีประเทศสหัฐอเมริกา แต่น่าจะเป็นหลักฐานที่ทำขึ้นเมื่อคนไทยได้รับรู้ว่ามีประเทศสหรัฐอเมริกา แล้ว หรือหลักฐานเป็นของเก่าสมัยสุโขทัยจริง แต่การคัดลอกต่อกันมามีการเติมชื่อประเทศสหัฐอเมริกา เข้าไป เป็นต้น
วิพากษ์วิธีภายในยังสังเกตได้จากการกล่าวถึงตัวบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ ถ้อยคำ เป็นต้น ในหลักฐษนว่ามีความถูกต้องในสมัยนั้นๆ หรือไม่ ถ้าหากไม่ถูกต้องก็ควรสงสัยว่าเป็นหลักฐานปลอมแปลง หลักฐานที่แท้จริงเท่านั้นที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ ส่วนหลักฐานปลอมแปลงไม่มีคุณค่าใดๆ อีกทั้งจะทำให้เกิดความรู้ที่ไม่ถูกด้วย ดังนั้น การประเมินคุณค่าของหลักฐานจึงมีความสำคัญและจำเป็นมาก
4.การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดหมวดหมู่ข้อมูล
เมื่อทราบว่าหลักฐานนั้นเป็นของแท้ ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือความจริงในประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะต้องศึกษาข้อมูลหรือข้อสนเทศในหลักฐานนั้นว่าให้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อะไรบ้าง ข้อมูลนั้นมีความสมบูรณ์เพียงใด หรือข้อมูลนั้นมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นอย่างไร มีจุดมุ่งหมายแอบแฝงหรือไม่ ข้อมูลมีความยุติธรรมหรือไม่ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหลายมาจัดหมวดหมู่ เช่น ความเป็นมาของเหตุการณ์ สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความเป็นไปของเหตุการณ์ ผลของเหตุการณ์ เป็นต้น
เมื่อได้ข้อมูลเป็นเรื่อง เป็นประเด็นแล้ว ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์เรื่องนั้นก็จะต้องหาความสัมพันธ์ของประเด็นต่างๆ และตีความข้อมูลว่ามีข้อเท็จจริงใดที่ซ่อนเร้น อำพราง ไม่กล่าวถึงหรือในทางตรงกันข้ามอาจมีข้อมูลกล่าวเกินความเป็นจริงไปมาก
ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ควรมีความละเอียดรอบคอบ วางตัวเป็นกลาง มีจินตนกาาร มีความรอบรู้ โดยศึกษาข้อมูลทั้งหลายอย่างกว้างขวาง และนำผลการศึกษาเรื่องนั้นที่มีแต่เดมมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ รวมทั้งจัดหมวดหมู่ข้อมูลให้เป็นระบบ
5.การเรียบเรียงหรือการนำเสนอ
การเรียบเรียงหรือการนำเสนอจัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมและเรียบเรียงหรือนำ เสนอให้ตรงกับประเด็นหรือหัวเรื่องที่ตนเองสงสัย ต้องการอยากรู้เพิ่มเติม ทั้งจากความรู้เดิมและความรู้ใหม่ รวมไปถึงความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรื้อฟื้นหรือจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ อย่างถูกต้องและเป็นกลาง
ในขั้นตอนการนำเสนอ ผู้ศึกษาควรอธิบายเหตุการณ์อย่างมีระบบและมีความสอดคล้องต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผล มีการโต้แย้งหรือสนับสนุนผลการศึกษาวิเคราะห์แต่เดิม โดยมีข้อมูลสนับสนุนอย่างมีน้ำหนัก เป็นกลาง และสรุปการศึกษาว่าสามารถให้คำตอบที่ผู้ศึกษามีความสงสัย อยากรู้ได้เพียงใด หรือมีข้อเสนอแนะให้สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อไปอย่างไรบ้าง
จะเห็นได้ว่าวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างมี ระบบ มีความระมัดระวัง รอบคอบ มีเหตุผลและเป็นกลาง ซื่อสัตย์ต่อข้อมูลตามหลักฐานที่ค้นคว้ามา อาจกล่าวได้ว่า วิธีการทางประวัติศาสตร์เหมือนกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จะแตกต่างกันก็เพียงวิธีการทางวิทยาศาสตร์สามารถทดลองได้หลายครั้ง จนเกิดความแน่ใจในผลการทดลอง แต่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นใหม่ได้อีก ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีจึงเป็นผู้ฟื้นอดีตหรือจำลองอดีตให้มีความถูก ต้องและสมบูรณ์ที่สุด โดยใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์เพื่อที่จะได้เกิดความเข้าใจอดีต อันจะนำมาสู่ความเข้าใจในปัจจุบัน

หน่วยที่ 1 วิธีทางประวัติศาสตร์


วิธีการทางประวัติศาสตร์


   ประวัติศาสตร์คือ การศึกษาเรื่องราวและพฤติกรรมของสังคมมนุษย์ในอดีต ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาและยุคสมัยต่างๆกัน คุณค่าสำคัญของประวัติศาสตร์คืออดีตเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับปัจจุบันและอนาคต
ทศวรรษ ศตวรรษ สหัสวรรษ
ทศวรรษ หมายถึงรอบ 10 ปี ลงท้ายด้วย 0 ถึงศักราชที่ลงท้าย 9
– ทศวรรษ 1990 ตามคริสต์ศักราช หมายถึง ค.ศ. 1990-1999
– ทศวรรษ 2540 ตามพุทธศักราช หมายถึง พ.ศ. 2540-2549
ศตวรรษ หมายถึง รอบ 100 ปี ลงท้ายด้วย 01 ไปถึงศักราชที่ลงท้ายด้วย 00
– คริสต์ศตวรรษที่ 1 หมายถึง ค.ศ. 1-100
– พุทธศตวรรษที่ 25 หมายถึง พ.ศ. 2401-2500
สหัสวรรษ สหัสวรรษที่ 3 ตามคริสต์ศักราชหมายถึง ค.ศ. 2001-3000
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีการใช้คัวอักษรบันทึกบอกเรื่องราว การศึกษาสมัยก่อนต้องอาศัยหลักฐานทางโบราณคดีเป็นหลัก
1. ยุคหิน
– ยุคหินเก่า ระหว่าง 500,000-10,000 ปีมาแล้ว ใช้เครื่องมือหินกะเทาะที่หยาบๆ อาศัยตามถ้ำและเพิงผา ไม่มีการตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง
– ยุคหินกลาง ระหว่างประมาณ 6,000-4,000 ปีมาแล้ว ใช้หินกะเทาะที่ทำประณีตขึ้น
– ยุคหินใหม่ ระหว่างประมาณ 6,000-4,000 ปีมาแล้ว ใช้เครื่องมือหินขัด พัฒนาที่สำคัญที่สุดในยุคนี้ เพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ทำเครื่องปั้นดินเผา ทอผ้า เครื่องจักสาน
2. ยุคโลหะ
ยุคสำริด ระหว่าง 4,000-2,500 มาแล้ว รู้จักทำเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับด้วยสำริด เป็นสังคมเกษตรกรรม ชุมชนขยายใหญ่ขึ้น
ระหว่างประมาณ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว มนุษย์ยุคนี้รู้จักถลุงเหล็กและนำมาหล่อเป็นเครื่องมือเครื่องใช้
สมัยประวัติศาสตร์ เป็นสมัยที่มนุษย์ในสังคมมีการใช้ตัวอักษรบันทึกบอกเรื่องราว ทั้งนี้การมีตัวอักษรใช้ในแต่ละสังคมจะเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสังคมอาจใช้หลักฐานทางโบราณคดีเป็นส่วนประกอบ แบ่งเป็นสมัยย่อยๆได้หลายแบบ
แบ่งตามราชธานี
ได้แก่ กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
แบ่งตามราชวงศ์
เฉพาะในสมัยอยุธยา สมัยราชวงศ์อู่ทอง สุพรรณภูมิ สุโขทัย ปราสาททอง บ้านพลูหลวง
แบ่งตามพระนามพระมหากษัตริย์
สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระนารายณ์มหาราช
แบ่งตามพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง
สมัยอยุธยาแบ่งตาม 3 ระยะคือ อยุธยาตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ศก แบ่งได้ 3 ระยะคือ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัตนโกสินทร์ยุคปรับปรุงประเทศ สมัยรัตนโกสินทร์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
แบ่งตามลักษณะการปกครอง
เช่น สมัยรัตนโกสินทร์อาจแบ่งย่อยตามลักษณะการปกครองเป็น 2 สมัยย่อย
สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  สมัยประชาธิปไตย
แบ่งตามแนวประวัติศาสตร์สากล ช่วงเวลาสมัยประวัติศาสตร์ตามหลักประวัติศาสตร์สากลนิยมแบ่งเป็นสมัยย่อย 4 สมัย คือ สมัยโบราณ สมัยกลาง สมัยใหม่  สมัยปัจจุบัน
วิธีการทางประวัติศาสตร์
ขั้นที่ 1
เป็นขั้นตอนแรก นักประวัติศาสตร์ต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะศึกษาอะไร อดีตส่วนไหน สมัยอะไร และเพราะเหตุใด เป็นการตั้งคำถามที่ต้องการศึกษา นักประวัติศาสตร์ต้องอาศัยการอ่าน การสังเกต และควรต้องมีความรู้กว้างๆ ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนั้นๆมาก่อนบ้าง ซึ่งคำถามหลักที่นักประวัติศาสตร์ควรคำนึงอยู่ตลอดเวลาก็คือทำไมและเกิดขึ้นอย่างไร
ขั้นที่ 2 การรวบรวมข้อมูล
ลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ให้ข้อมูล มีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งที่เป็นหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองการรวบรวมข้อมูลนั้น หลักฐานชั้นต้นมีความสำคัญ และความน่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานชั้นรอง แต่หลักฐานชั้นรองอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่ายกว่าหลักฐานชั้นรอง ในการรวบรวมข้อมูลประเภทต่างๆดังกล่าวข้างต้น ควรเริ่มต้นจากหลักฐานชั้นรองแล้วจึงศึกษาหลักฐานชั้นต้น ถ้าเป็นหลักฐานประเภทไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ควรเริ่มต้นจากผลการศึกษาของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ก่อนไปศึกษาจากของจริงหรือสถานที่จริง การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีควรใช้ข้อมูลหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าผู้ศึกษาต้องการศึกษาเรื่องอะไร
ขั้นที่ 3 การตรวจสอบประเมินคุณค่าของหลักฐาน
วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์ คือ การตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลในหลักฐานเหล่านั้นว่า มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานและวิพากษ์ข้อมูลโดยขั้นตอนทั้งสองจะกระทำควบคู่กันไป เนื่องจากการตรวจสอบหลักฐานต้องพิจารณาจากเนื้อหา หรือข้อมูลภายในหลักฐานนั้น และในการวิพากษ์ข้อมูลก็ต้องอาศัยรูปลักษณะของหลักฐานภายนอกประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานหรือวิพากษ์ภายนอก การวิพากษ์หลักฐาน (external criticism) คือ การพิจารณาตรวจสอบหลักฐานที่ได้คัดเลือกไว้แต่ละชิ้นว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด
ขั้นที่ 4 การตีความหลักฐาน
การตีความหลักฐาน หมายถึง การพิจารณาข้อมูลในหลักฐานว่าผู้สร้างหลักฐานมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร โดยดูจากลีลาการเขียนของผู้บันทึกและรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปเพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริงซึ่งอาจแอบแฟงโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ในการตีความหลักฐาน นักประวัติศาสตร์จึงต้องพยายามจับความหมายจากสำนวนโวหาร ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ของผู้เขียนและสังคมในยุคสมัยนั้นประกอบด้วย เพื่อทีจะได้ทราบว่าถ้อยความนั้นนอกจากจะหมายความตามตัวอักษรแล้ว ยังมีความหมายที่แท้จริงอะไรแฝงอยู่
ขั้นที่ 5 การเรียบเรียงและการนำเสนอ
การเรียบเรียงคือ การนำข้อมูลที่ตีความมาแล้วสังเคราะห์หรือรวมเข้าด้วยกัน เพื่ออธิบายหรือตอบปัญหาที่กำหนดไว้ในขั้นตอนที่ 1 ของกระบวนการทางประวัติศาสตร์ หลังจากนั้นจึงนำเสนอด้วยวิธีการที่เหมาะสม